แม้ว่าปัจจุบันถุงพลาสติกจะถูกรณรงค์ให้ลด ละ เลิก แล้วหันมาใช้ถุงผ้าแทน แต่ถึงอย่างไรในชีวิตประจำวันของเราก็ยังคงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ซึ่งเราอาจจะโทษผู้คิดค้นว่าผลิตมาทำไม เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมขนาดนี้ ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้นจุดประสงค์ในการคิดค้นก็เพื่อช่วยโลกเหมือน ๆ กัน แล้วก็ไม่ได้มีเฉพาะโทษด้วย และในวันนี้เราจะพาทุก ๆ คนย้อนกลับไปดูกันว่าถุงพลาสติกแท้จริงแล้วผลิตมาเพื่ออะไร และมีประโยชน์มหาศาลขนาดไหน
ประวัติที่น่าสนใจของ “ถุงพลาสติก”
ต้องบอกก่อนว่าพลาสติกนั้นถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ.1933 ที่โรงงานเคมีแห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักร ซึ่งมีการนำมาใช้อย่างลับ ๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ของกองทัพสหราชอาณาจักรด้วย จนกระทั้งปี 1965 “สเตียน กุสตาฟ ทูลิน” นักวิศวกรชาวสวีเดนได้พัฒนาจากพลาสติกแผ่น ๆ ให้หลายมาเป็นถุงพลาสติกภายใต้บริษัทด้านการแปรรูปพลาสติก อย่าง บริษัท Celloplast แน่นอนว่าได้มีการจดสิทธิบัตรถุงพลาสติก และได้รับความนิยมในประเทศแถบทวีปยุโรปอย่างรวดเร็ว
ประโยชน์และความตั้งใจของการมี “ถุงพลาสติก”
สำหรับความตั้งใจในการผลิตถุงพลาสติกขึ้นมาใช้นั้นจริง ๆ แล้วก็เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะช่วงนั้นผู้คนต่างใช้ถุงกระดาษใส่สิ่งของ อาหาร ซึ่งต้องมีการตัดไม้ทำลายป่านำมาแปรรูปเป็นกระดาษ ทำให้สูญเสียต้นไม้ไปอย่างมหาศาลนั่นเอง
ที่สำคัญถุงพลาสติกมีประโยชนอันน่าทึ่งมากตรงที่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกหลังจากใช้งานไปแล้วผิดกับถุงกระดาษที่เปื่อยยุ่ยต้องทิ้งจึงช่วยลดต้นทุนไปเยอะ มีความหนา ทนทาน แข็งแรง น้ำหนักเบาพกพาง่ายไม่กินพื้นที่การจัดเก็บเลย โดนน้ำก็ไม่พังชำรุด
รวมถึงการใช้งานก็มีความง่ายมาก ห่อหุ้มเพื่อถนอมอาหารให้อยู่ยาวนานขึ้น หรือบรรจุสิ่งของ อาหาร สินค้าถือเก๋ ๆ ขึ้นรถ ลงเรือ กลับบ้านอย่างปลอดภัยไม่รั่วกลางทาง แถมราคาถูกไม่ต้องซื้อหลายครั้งเหมือนถุงกระดาษ
หลายคนพยายามบอกว่าถุงพลาสติกเป็นมลพิษในหลาย ๆ ด้านใช้เวลาย่อยสลายกว่า 500 ปี ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเราสามารถนำถุงพลาสติกกลับมาหลอมเพื่อให้กลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งการใช้ถุงผ้านั้นกว่าจะผลิตแต่ละครั้งใช้ทั้งน้ำและพลังงานมากมายมากกว่าถุงพลาสติกด้วยซ้ำ หรือจะบอกว่ากระบวนการผลิตถุงพลาสติกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ สู่สิ่งแวดล้อมแต่ถ้าลองเทียบกับการผลิตถุงกระดาษบอกเลยว่าน้อยกว่า ไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่าด้วย
หากลองนึกย้อนดูให้ดีจริง ๆ แล้วก็เป็นเพราะพฤติกรรมของมนุษย์ที่ทิ้งเรี่ยราดจนทำให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ ต่อสิ่งแวดล้อมไม่ใช่หรือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของแต่ละคนอาจช่วยให้โลกให้สิ่งแวดล้อมน่าอยู่ขึ้นก็เป็นได้